วันศุกร์

จัดสวนสวยบนเนินเขา



เพื่อนๆค่ะ  เพื่อนบางคนมีบ้านพักรับรองที่มีพื้นที่ดินเยอะๆ อยู่ตามเนินเขา หรือมีบ้านพักตากอากาศ ที่ต้องการให้เป็นแหล่งพักผ่อนจริงๆ คนชอบสวน มีไอเดียการแต่งสวนให้เป็นธรรมชาติ  " จัดสวนสวยบนเนินเขา "






การที่จะจัดสวนอยู่ในแมกไม้ตามเนินเขานั้น จะต้องดูแบบบ้านว่าทำอย่างไงนั้นให้บ้าน แทรกระหว่างหมู่แมกไม้ที่สูงต่ำกันตามระดับของขุนเขา การที่จะปลูกต้นไม้เพิ่มสักต้นบนเขานั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายมาก ไหนจะสภาพดิน แหล่งน้ำ ระดับความชัน ต้นไม้เดิม  โดยเราจะเริ่มต้นจัดการตกแต่งสวนบนเนิน ดังนี้

  • - เริ่มต้นจากทางทางเข้าสู่ตัวบ้าน ให้ความเรียบง่ายแต่แฝงด้วยความเป็นธรรมชาติ


  • - ถนนเข้าบ้านอาจจะใช้ วัสดุที่เรียบง่าย เช่น พื้นที่ซีเมนต์วางอิฐมอญประดับเป็นแนว เป็นลวดลายที่เรียบง่ายแต่ไม่ดูแข็งกระด้าง

  • - ต้นไม้เดิมๆ ให้คงไว้ก่อน พยายามให้ต้นไม้ล้อมรอบบ้าน เพราะว่าไม่ว่าจะนั่งอยู่มุมไหน ก็สามารถมองเห็นความเขียวขจีของต้นไม้ได้

  • - ใช้ไม้พุ่มเป็นแปลงยาว ใช้ความงามของเส้นใบไม้ที่แตกต่างกัน และเล่นระดับที่ลดหลั่นกันลงมา เสริมให้สภาพแวดล้อมดูกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว

  • - ตามขอบเนินบางช่วงปลูกไม้พุ่มเป็นแปลงใหญ่ให้ไหลเลื้อยไปตามระดับความชัน เพื่อส่งเสริมให้เห็นความสวยงามของเส้นเนินที่ลาดเอียง อาจจะเลือกใช้ต้นไม้ธรรมดา เช่น เฟื่องฟ้าและบานไม่รู้โรยป่า

  • - สวนที่อยู่นอกเขต อาจจะใช้ไม้คลุมดินที่ใช้เรียงลำดับจากด้านหน้าไปด้านหลัง อย่างเช่น ซุ้มกระต่ายเขียว ซุ้มกระต่ายด่าง และกาบหอยแครง

  • - บริเวณเฉลียงหน้าบ้านจัดแต่งให้สวยงามด้วยพรรณไม้ทรอปิคัล คือ เฮลิโคเนียซาราพิเคว็นซิล ดอกสีแดงจากต้นซึ่งสามารถนำมาตัดประดับแจกันได้ด้วย

  • - มีมุมนั่งเล่น ให้ใช้วัสดุที่เรียบง่ายแต่ดูเข้ากันได้ดี อาจจะใช้กันสาดไม้ระแนงกับพื้นซีเมนต์ ที่ประดับด้วยหินกาบ

  • - วางม้านั่งเป็นจุดนั่งพักสายตา แล้วแต่งด้านหลังด้วยแนวเฮลิโคเนีย


เพื่อนๆค่ะ การจัดตกแต่งสวนนั้นแล้วแต่ไอเดียหรือความชอบ นำมาจัดเรียงให้ผสมผสานสวยงาม ที่สำคัญคือทำให้เรามีความสุข คนชอบสวน คิดว่าไอเดียเล็กๆน้อยนี้อาจจะช่วยเพื่อนๆได้นะค่ะ....


วันพฤหัสบดี

ชนิดของเรือนเพาะชำ( ต่อ )



เพื่อนๆค่ะ ครั้งที่แล้ว คนชอบสวน ได้คุยถึงเรือนเพาะชำ หรือสถานที่สำหรับขยายพันธุ์ไม้ ไปแล้ว ครั้งนี้จะขอคุยต่ออีกนิดถึง ชนิดของเรือนเพาะชำ


เรือนเพาะชำ  หรือเรือนต้นไม้ ซึ่งมีบางคนนั้นเรียกว่า รัง เช่นรังกล้วยไม้นั้นมีหลายชนิด แตกต่างกันออกทั้งในลักษณะรูปร่าง ความประสงค์ที่ใช้และการก่อสร้าง ดังนั้นจึงขอแบ่งชนิดของเรือนต้นไม้ หรือเรือนเพาะชำ ออกเป็นชนิดต่างๆ เพื่อความสะดวกในการก่อสร้างตามวัตถุประสงค์


การแบ่งประเภทของเรือนเพาะชำ แบ่งได้ดังนี้


  • 1. เรือนเพาะชำ ( Lath House ) 



- หมายถึง เรือนที่สร้างขึ้นด้วยไม้ระแนง ( Lath ) ตีช่องห่างไม่เกิน 2 นิ้ว เพื่อให้แสงสว่างเข้ามาได้บางเวลา ลมโกรกได้ ส่วนมากจะสร้างด้วยไม้ อาจมีกำแพงคอนกรีตสูงจากระดับพื้นดินตั้งแต่ 1 ถึง 3 ฟุต หรือมากกว่านั้นก็ได้ เพื่อช่วยให้มีความชื้นมากขึ้นในเรือนเพาะชำ



- เรือนเพาะชำที่เรียกว่า Lath House นี้มีความประสงค์ เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับเพาะชำ หรือขยายพันธุ์พืชโดยตรง และ เรือนเพาะชำแบบนี้ได้รวมไม้ที่ยังไม่แข็งแรงไว้ในที่เดียวกัน เพื่อดูแลสะดวก เหมาะกับไม้ที่อายุยังน้อยไม่แข็งแรงพอ ที่จะปลูกในแปลงกลางแจ้งได้เลยทีเดียว



  • 2. เรือนต้นไม้ ( Lath shelter ) 


- หมายถึงเรือนไม้ระแนงที่อาจมีฝาเป็นแนวล้อมรอบ หรือมีแต่หลังคาไม้ระแนงอย่างดียวก็ได้ แล้วแต่พันธุ์ไม้ที่อยู่ในเรือนต้นไม้



- การสร้างเรือนต้นไม้ที่เรียกว่า Lath shelter นี้เพื่อใช้เป็นการรวบรวมพันธุ์ไม้ที่ต้องการแสงแดดน้อย หรือไม้ในร่ม ( Indoor plant ) พันธุ์ไม้ชนิดนี้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในที่มีแสงแดดจัด หรือปลูกกลางแจ้งได้ เรืือนต้นไม้ชนิดนี้ยังแบ่งออกได้ตามสภาพของ พันธุ์ไ้ม้ที่จะนำมาไว้ในเรือนต้นไม้  เช่นจะปลูกหรือเลี้ยงกล้วยไม้ ต้องการเรือนไม้ที่โปร่ง ให้แสงแดดส่องทั่วถึงและมีลมโกรกบ้างเล็กน้อย



  • 3. ซุ้มเรือนต้นไม้ ( Garden shelter and display ) 



- หมายถึง เรือนไม้ชนิดนี้ที่ทำไว้เพื่อตกแต่งบ้านให้สวยงาม อาจมีพันธุ์ไม้เลื้อยขึ้นอยู่ด้วยหรือไม่มีก็ได้ อาจจะมีไม้กระถางหรือไม้พุ่มไม้ดอก ปลูกประดับซุ้มเรือนต้นไม้ด้วยก็ได้



- การสร้างเรือนต้นไม้ประเภทนี้ เพื่อให้บริเวณบ้านน่าดู ร่มรื่น เป็นที่นั่งเล่นในซุ้มต้นไม้ หรือเป็นที่ตั้งไม้ดอกไม้ประดับ ดังนั้นเรือนต้นไม้ประเภทนี้จึงมีรูปร่างลักษณะแปลกๆ แล้วแต่ผู้จัดสวน หรือเจ้าของบ้านจะออกแบบให้เข้ากับตัวบ้านหรืออาคาร ซึ่งจะมีหลังคาแบบแปลกๆ เช่น สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม หน้าจั่ว แบบราบและลวดลายแปลกๆ บางเรือนอาจจะมีม้านั่ง เก้าอี้ หรือเฟอร์นิเจอร์ประดับตกแต่งเพิ่มอีกด้วย



  • 4. เรือนกระจก ( Green house ) 


- หมายถึงเรือนต้นไม้ที่สร้างแบบมิดชิด มีกระจกปิดหลังคา หรือฝาเพื่อให้แสงสว่างภายนอกลอดมาได้ หลังคามักใช้กระจกฝ้าปิดเพื่อลดแสงแดดให้น้อยลง ด้านข้างอาจก่ออิฐเป็นกำแพงคอนกรีต ภายในสามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น การระบายอากาศได้ดี



- เรือนกระจกมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเพาะชำ ขยายพันธุ์ไม้หรือเลี้ยงพันธุ์ไม้เมืองร้อนทุกชนิด ในประเทศที่หนาวจัด พันธุ์ไม้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตลอดปีเหมือนประเทศแถบร้อน จึงต้องมีเรือนกระจกไว้ขยายพันธุ์ไม้ และเลี้ยงพันธุ์ไม้ ภายในเรือนกระจกจะมีอุปกรณ์เครื่องมือมากมาย การก่อสร้างและวิธีในการใช้เรือนกระจกมีราคาสูงมาก และต้องมีผู้มีความรู้ใช้ สำหรับในประเทศไทยนั้นเรือนกระจกแทบไม่มีความจำเป็น นอกจากการขยายพันธุ์ไม้พิเศษบางชนิด ที่ต้องการควบคุมความชื้นอย่างมาก เช่น การขยายพันธุ์พวกเฟิร์นด้วยสปอร์  เป็นต้น


เพื่อนๆค่ะ คนชอบสวนคิดว่าเรื่อง ชนิดของเรือนเพาะชำคงพอที่จะให้เพื่อนๆทราบหรือเข้าใจถึง วัตถุประสงค์ของเรือนเพาะชำแต่ละประเภท เผื่อเพื่อนๆต้องการสร้างเรือนเพาะชำขึ้นมาเองนะค่ะ...


วันพุธ

กล้วยพัด



เพื่อนๆค่ะ ทิศตะวันตกนั้นจะได้รับแสงแดดตอนบ่ายๆ เราควรปลูกไม้ที่ให้ร่มเงา เพื่อที่จะช่วยกันแดดช่วงบ่าย สามารถปลูกเพื่อเป็นร่มเงาได้ คนชอบสวน มีพันธุ์ไม้มาแนะนำ ซึ่งได้แก่ กล้วยพัด ซึ่งจะเหมาะกับทิศตะวันตกนี้












กล้วยพัด


ชื่อสามัญ  Traveller' s tree


ชื่อวิทยาศาสตร์  Ravenala madagascariensis


ตระกูล   MUSACEAE


ถิ่นกำเนิด   ประเทศมาดากัสการ์


  • ลักษณะทั่วไป


- กล้วยพัดเป็นพืชอวบน้ำที่มีลักษณะแตกต่างไปจากกล้วยธรรมดา โดยทั่วๆ ไป คือ ใบจะมีลักษณะเหมือนกับใบกล้วย แต่จะมีความแข็งกว่ามาก แกนของใบจะแผ่ออกสองข้าง ทำให้มีลักษณะคล้ายพัดขนาดใหญ่


- การเรียงตัวของก้านใบนั้นจะเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยรูปทรงสวยงาม ดูแลง่าย และไม่ทิ้งกิ่งก้านหรือใบให้เกะกะ


- ลำต้นจะเกิดเป็นต้นเดี่ยวๆ สูงประมาณ 6-9 เมตร และกว้างประมาณ 25-50 เซนติเมตร 

- เป็นพืชมีเหง้า ฝังอยู่ใต้ดิน เมื่อโตจึงโผล่ขึ้นพื้นดิน   

- ดอกของกล้วยพัดมีสีขาวขุ่น ขนาดเล็ก กระจุกเป็นช่อ มีช่อดอกยาวถึง 30 เซนติเมตร ออกดอกตลอดปี และมีผลสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ดสีฟ้า


  • การดูแลรักษา


แสง  กล้วยพัดชอบแสงแดดจัด ควรปลูกไว้ที่กลางแจ้ง

น้ำ  ต้องการน้ำพอประมาณ อย่าให้ถึงกับแฉะ ต้องการความชื้นสูง

ดิน  ดินที่ปลูกควรเป็นดินที่อมความชื้นได้บ้าง

ปุ๋ย  ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบริเวณโคนต้นปีละ 2 ครั้ง

การขยายพันธุ์  โดยการแยกหน่อ

โรคและแมลง  ไม่ค่อยพบเห็นเพราะทนทานต่อโรคและแมลงมาก



  • กล้วยพัด เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีลักษณะโดดเด่น ลำต้นคล้ายปาล์มแต่มิใช่ปาล์ม แม้ว่าจะมีใบคล้ายกล้วย แต่ก็ไม่ใช่กล้วย อยู่ในสกุลที่ต่างกัน และมีลักษณะร่วมกันไม่มากนัก 


เพื่อนๆค่ะ ตรงโคนใบของกล้วยพัดสามารถอุ้มน้ำได้มากกว่า 1 ลิตร นักเดินป่ารึเดินทางสามารถดื่มน้ำได้จากหลายๆส่วนของกล้วยพัดนี้ ทั้งซอกโคนใบ และช่อดอกของกล้วยพัดได้ เพื่อนๆอยากลองดื่ม เหมือนคนชอบสวนมั้ยค่ะ ....


วันอังคาร

การตอนกิ่งไม้



เพื่อนๆค่ะ คนชอบสวน เคยแนะนำเพื่อนๆเกี่ยวกับการปักชำกิ่งแล้ว วันนี้จะมาแนะนำเรื่อง การตอนกิ่ง ให้เพื่อนๆลองปฏิบัติดูนะค่ะ






  • การตอนกิ่ง

- การตอน เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้กิ่ง หรือต้นพืชเกิดรากขณะติดอยู่กับแม่ เมื่อตัดไปปลูกจะได้ต้นพืชใหม่ ที่มีลักษณะทางสายพันธุ์เหมือนแม่ทุกประการ แต่มีข้อเสียคือ ระบบรากของพืชไม่ค่อยแข็งแรง เนื่องจากไม่มีระบบรากแก้ว


  • วัสดุที่ใช้ในการตอนกิ่ง

1. มีดบาง หรือมีดที่ใช้ขยายพันธุ์พืช

2. ตุ้มตอน หมายถึง ขุยมะพร้าวอัดถุงพลาสติก ขนาด 4*6 นิ้ว

3. เชือกหรือลวด

4. กรรไกรตัดแต่งกิ่ง



วิธีการตอน ทำตามขั้นตอนดังนี้


1. เลือกกิ่งที่จะทำการตอน ให้เลือกกิ่งจากต้นพันธุ์ที่ดี ต้องเป็นกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ ที่มีความสมบูรณ์ปราศจากการทำลายของโรคและแมลง

2. การทำแผลบนกิ่งตอน  สามารถทำได้ 3 แบบ คือ


  • - การตอนกิ่งแบบการควั่นกิ่ง วิธีนี้เหมาะสำหรับพืชที่ลอกเปลือกไม้ออกได้ง่าย โดยการใช้มีดควั่นกิ่งโดยรอบเป็น วงแหวน 2 วง ความห่างของวงแหวนประมาณความยาวของเส้นรอบวงของกิ่งที่ทำการตอน จากนั้นกรีดรอยแผลจากด้านบนถึงล่าง แล้วลอกเอาเปลือกไม้ออก ใช้สันมีดขูดส่วนที่เป็นเมือกลื่นที่ติดบนเนื้อไม้บริเวณรอยควั่นออกให้หมด โดยขูดจากด้านบนลงมาด้านล่างเบาๆเพราะด้านบนเป็นส่วนที่ให้กำเนิดราก ถ้าหากช้ำการออกรากจะไม่ดีเท่าที่ควร

  • - การตอนกิ่งแบบปาดกิ่ง  เหมาะสำหรับพืชที่ออกรากง่าย และพืชบางชนิดที่ลอกเปลือกนอกของกิ่งออกยาก โดยการเฉือนใต้ท้องกิ่งบริเวณที่จะทำการตอนเข้าเนื้อไม้เป็นรูปปากฉลาม เข้าไปในเนื้อไม้ประมาณ 1/3 ของเส้นผ่าศุนย์กลางของกิ่ง ความยาวแผลประมาณ 1-2 นิ้ว จากนั้นหาเศษไม้ หรือลวดตะกั่ว หรือลวดฟิวไฟฟ้าสอดแล้วมัด เพื่อไม่ให้รอยแผลที่เปิดไว้ติดกัน 


  • - การตอนกิ่งแบบกรีดกิ่ง โดยใช้ใบกรีดเป็นรอยแผลตามความยาวของกิ่ง ยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว จนลึกถึงเนื้อไม้จำนวน 3-5 รอยกิ่งรอบกิ่ง เหมาะสำหรับพืชที่ออกรากง่าย

3. การหุ้มกิ่งตอน เป็นการชักนำให้รอยแผลที่ควั่นไว้ออกราก โดยใช้ตุ้มตอน ซึ่งได้จากการนำขุยมะพร้าวที่ตีเอาเส้นใยออกไปแล้วไปแช่น้ำบีบให้หมาดๆ และอัดลงในพลาสติกขนาดเล็ก ผูกปากถุงให้แน่น ผ่าตุ้มตอนตามยาวแล้วหุ้มไปบนรอยแผล มัดด้วยเชือกบริเวณหัวท้ายต้องมัดให้แน่นไม่ให้ตุ้มหมุน ถ้าหมัดไม่แน่นอาจทำให้รากไม่ดีเท่าที่ควร


4. การดูแลรักษากิ่งตอน ควรหมั่นดูแลตุ้มตอนให้มีความชื้นอยู่เสมอ ถ้ามีฝ้าไอน้ำจับอยู่ที่จับอยู่ที่ถุงตุ้มตอนแสดงว่ามีความชื้นอยู่ ถ้าไม่มีฝ้าไอน้จับ ต้องให้น้ำเพิ่มจนกว่ากิ่งตอนจะออกราก



5.การตัดกิ่งตอน เมื่อตอนกิ่งประมาณ 30-45 วัน กิ่งตอนจะเริ่มออกรากและแทงผ่านวัสดุ มองเห็นด้วยตาเปล่า ต้องรอให้รากที่งอกออกมาเป็นสีเหลืองแก่ หรือน้ำตาลจำนวนรากมีมากพอและปลายรากสีขาว จึงตัดกิ่งตอนไปชำได้



6. การชำกิ่งตอน กิ่งตอนที่ตัดมาแล้ว ให้ตัดแต่งใบและกิ่งทิ้งออกบ้าง เพื่อลดการคายน้ำของใบในปริมาณที่น้อยลง ถ้ามีใบหรือกิ่งแตกมากเกินไป เมื่อนำไปชำอาจจะทำให้พืชเหี่ยวเฉาและตายได้


หลังจากชำกิ่งตอนจนรากออกดีแล้ว ให้ตัดเชือกและแกะพลาสติกออก นำไปชำในถุงพลาสติก หรือกระถางดินเผาที่บรรจุดินผสมไว้แล้ว พร้อมปักหลักยึดไว้ให้แน่น นำเข้าพักในโรงเรือนที่ร่มและชื้น กรณีพืชที่เหี่ยวเฉาง่ายควรเก็บไว้ในโรงเรือนควบคุมความชื้น หรือกะบะพ่นหมอก พักไว้ในโรงเรือน 20-30 วันก็สามารถนำไปปลูกได้



เพื่อนๆค่ะ เป็นไงบ้างค่ะ วิธีขยายพันธุ์แบบตอนกิ่ง คิดว่าเพื่อนๆหลายๆคนคงเคยทำมาบ้างแล้ว ถ้าคนไหนยังไม่เคยก็ลองปฏิบัติตาม คนชอบสวน แนะนำนะค่ะ เผื่อสามารถขยายพันธุ์ไม้ได้เอง....


วันจันทร์

สนามหญ้าหน้าบ้าน (ต่อ)



เพื่อนๆค่ะ ครั้งแล้ว คนชอบสวน ได้เคยแนะนำเพื่อนๆ เกี่ยวกับการหญ้าที่นิยมปลูกที่สนามหน้าบ้าน วันนี้อยากจะคุยต่อเรื่องหญ้า แต่เป็นเรื่อง การเตรียมดินสนามหญ้า






การเตรียมดินสนามหญ้า ในระยะแรกๆนั้นจะสิ้นเปลืองเงินทองและเสียเวลาอยู่มาก แต่สบายในตอนหลังๆดินสนามหญ้าต้องมีอาหารพืชพอสมควร


  • ถ้าเป็นดินเหนียวควรใส่อินทรีย์วัตถุไปด้วย เช่น หญ้าหมักที่ผุๆเน่าเปื่อย เศษใบไม้ กิ่งไม้เล็กๆที่แห้งๆผุๆ หรือปุ๋ยคอกที่ผุๆ แล้วก็ได้ ควรใส่อินทรีย์วัตถุ 1 ปี๊บ ต่อพื้นที่สนามหญ้า 1 ตารางเมตร หรือ อย่างน้อยก็ 1 ปี๊บต่อ 3 ตารางเมตร ดีกว่าไม่ใส่เลย นอกจากนี้อาจใส่ปุ๋ยพิเศษอีกบ้างเล็กน้อยก่อนปลูกก็ได้

  • ดินที่ใช้ทำสนามหญ้านั้นต้องเป็นดินเป็นกรดเล็กน้อย ถ้าหากดินเป็นกรดสูงมากเกินไป ก็จำเป็นต้องลดความเป็นกรดของดินโดยใช้ปูนขาว แต่ต้องอย่าให้ดินเป็นกรดอย่างสูงหรือเป็นด่างได้ ถ้าหากดินมีคุณสมบัติเป็นกรดบ้างแล้ว จะทำให้หญ้าได้อาหารพืชในดินดีขึ้น  หากเป็นสนามหญ้าใหม่ๆ ควรพิจารณาและตรวจสอบคุณภาพของดินให้แน่นอนเสียก่อน



วิธีแก้ไม่ให้ดินถูกน้ำเซาะ ถ้าเตรียมดินใ้้ห้เรียบร้อยนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีปลูกหญ้า บนพื้นที่ลาดเทนั้น ถ้าปล่อยให้ดินไว้ว่างๆ แล้วจะทำให้น้ำเซาะชะล้างเอาดินไหลลงมาด้านล่างนั้น ทำให้ไหล่เนินพังหรือถูกน้ำเซาะไม่สวยงาม ดังนั้นจะมีวิธีทางแก้ ได้แก่


- ปลูกหญ้าทำเป็นสนามให้ตลอด

- ปลูกพืชต้นเตี้ยๆ คลุมดิน เช่น ปลูกพวกเฟริน

- ปลูกไม้โปร่งปิดดินเสียตรงส่วนนั้น เช่น ไม้พุ่มที่มีทรงแจ้ติดดินเตี้ยๆ

- ทำเป็นคันทำนบกั้น อาจใช้ทำนบคอนกรีต หรือไม้ปิดกั้น



  • วิธีการปลูกหญ้า อาจทำได้หลายวิธีแล้วแคต่ความสะดวก และพันธุ์หญ้าที่ต้องการ ทำได้โดย


1. ปลูกโดยใช้เมล็ดหญ้าหว่าน วิธีนี้ต้องเกลี่ยดินให้ดีละเอียด และมีความชื้นสูง ลดน้ำให้ชุ่มก่อนหว่านเมล็ด เมื่อหว่านแล้วใช้ขี้เลื่อยหรือแกลบกลบเมล็ดก็ได้



2. ใช้วิธีแซะหญ้าที่ปลูกขึ้นมาแล้วทำเป็นแผงๆ มาปูพรมบนดินเสียก่อน โดยตัดเป็นแผ่นเหมือนตามร้านที่มีขายทั่วไป มาปูให้ห่างๆ กันหรือชิดกันก็ได้แล้วแต่ความต้องการ



3. ใช้วิธีแบบปลูกเป็นกอๆแบบดำนา โดยต้องทำดินสนามหญ้าให้ละเอียดและเปียกแล้วใช้ยาที่ถอนมาทั้งราก ดำลงในสนามหญ้าเป็นกำๆ วิธีนี้ดดยมากใช้ขี้ดคลนหรือเลนในบ่อมาปูสนามหญ้าเสียก่อน


วิธีการปลูกหญ้านั้น แล้วแต่ความสะดวกของผู้ปลูก แต่ในปัจจุบันนี้หญ้ามีขายเป็นแผ่นสำเร็จ เพียงแต่ก่อนที่จะปลูกควรรู้วิธีที่กล่าวมาแล้ว




เพื่อนๆค่ะ หญ้าก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งของสวนสวยของเรา การดูแลเอาใจใส่ทุกอย่างมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน อยากให้เพื่อนๆ อย่ามองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ นะค่ะ ถึงแม้จะเป็นแค่สนามหญ้า.....


.